กทม. มหานครปลอดภัย รองผู้ว่าฯ ติดตามความก้าวหน้า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
กทม. มหานครปลอดภัย รองผู้ว่าฯ ติดตามความก้าวหน้า
โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
TEAMG ได้รับความไว้วางใจจาก กรุงเทพมหานคร ควบคุมงานก่อสร้างโครงการอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
นายวัฒนะ ลิ้มแดงสงวน ผู้จัดการโครงการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ TEAMG เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจาก สำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร(กทม.) มอบหมายให้ดำเนินการควบคุมงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ระยะทาง ยาว 9.40 กิโลเมตร ความลึก 30 เมตร จากพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยแนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ พื้นที่บริษัทไม้อัดไทย (เดิม) พื้นที่ระยะทางประมาณ 85 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตประเวศ สวนหลวง บางนา พระโขนง และพื้นที่ต่อเนื่อง
ในระหว่างพื้นที่ที่อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลอดผ่าน จะมีการก่อสร้างปล่องรับน้ำ และอาคารรับน้ำ เพื่อรวบรวมน้ำในคลองต่างๆ ให้ระบายลงสู่อุโมงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง สำหรับอาคารรับน้ำ 7 แห่ง ได้แก่ อาคารรับน้ำบึงหนองบอน อาคารรับน้ำคลองหนองบอน อาคารรับน้ำคลองเคล็ด อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.3 (อุดมสุข 56) อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.2 (อุดมสุข 42) อาคารรับน้ำสุขุมวิท 66/1 อาคารรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1 สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อ ขนาดกำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที และอาคารทิ้งน้ำ 1 แห่ง ขณะนี้ผลงานการก่อสร้างที่ทำได้ 32.46% คาดว่าอุโมงค์ระบายน้ำดังกล่าวจะสามารถเปิดใช้งานได้ประมาณกลางปี 2564
โดยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการฯ บริเวณสถานีสูบน้ำบางอ้อ เขตบางนา ซึ่งสอดคล้องเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ประเด็นยุทธศาสตร์หรือวิสัยทัศน์ “มหานครปลอดภัย” ที่มีเป้าหมายให้กรุงเทพมหานครปลอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยวางมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ ลดความเสี่ยงและฟื้นคืนจากภัยพิบัติ โดยมีนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการ สำนักระบายน้ำ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
*************************************