CAZ กำหนดช่วงราคาจองซื้อหุ้น IPO 3.60 – 4.10 บาท
CAZ กำหนดช่วงราคาจองซื้อหุ้น IPO 3.60 – 4.10 บาท
“ซี เอ แซด (ประเทศไทย)” กำหนดช่วงราคาจองซื้อหุ้น IPO ที่ 3.60 - 4.10 บาท พร้อมลุยขายหุ้นไอพีโอ 80 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
นายรัฐชัย ธีระธนาวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมสายงานวาณิชธนกิจ - ด้านตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้น บริษัท ซี เอ แซด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CAZ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการอนุญาตและมีผลบังคับใช้ไฟลิ่ง (Filing) การขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยได้มีการกำหนดราคาเบื้องต้น เป็นช่วงราคา 3.60 – 4.10 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ในภายหลังจะมีการกำหนดราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) เพื่อให้นักลงทุนจองซื้อในลำดับต่อไป
“ทั้งนี้ การกำหนดช่วงราคาดังกล่าวเป็นการกำหนดราคาเบื้องต้น ไม่ใช่การทำสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (book building) ส่วนราคาเสนอขายสุดท้าย (Final Price) คาดว่าจะประกาศราคาเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปและผู้ถือหุ้นของ TAKUNI ที่ได้รับสิทธิ์การจอง (Pre – emptive right) ภายในวันที่ 4 มกราคม 2562” นายรัฐชัย กล่าว
นางปิยะภา จงเสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ บริษัท ซี เอ แซด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CAZ ว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา CAZ ได้มีการนำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนและประชาชน หรือ โรดโชว์ ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร และได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างดี
โดย CAZ วางแผนเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยคาดว่าจะเสนอขายและเข้าจดทะเบียนใน mai ได้ภายในต้นปี 2562
ด้านนายซุง ซิก ฮอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี เอ แซด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CAZ กล่าวอีกว่า การระดมทุนของบริษัทในครั้งนี้ ทำให้บริษัทเพิ่มความสามารถของการรับงานในอนาคต โดยการใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแก่ธนาคาร ลงทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ในการประกอบธุรกิจและการพัฒนาด้านไอที และเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
อีกทั้งการประกอบธุรกิจของบริษัทมีให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการบริหารจัดการงานรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจรในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ และปิโตรเคมี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในทุกขั้นตอน โดยช่องทางการรับงานมีทั้งการให้บริการตรงจากบริษัทเจ้าของโครงการ (Project Owner) และจากบริษัทผู้รับเหมาหลัก (Main Contractor) โดยการให้บริการส่วนใหญ่เป็นงานที่มีความซับซ้อน และมีมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยที่เข้มงวด ทำให้ต้องอาศัยความชำนาญ ลักษณะงานและการบริการแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ 1.บริการรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร (Engineering, Procurement and Construction: EPC) 2.บริการรับเหมาก่อสร้างติดตั้งโครงสร้างและระบบ (Structural Mechanical Piping (SMP) and Electrical and Instrument Service) 3.บริการงานด้านวิศวกรรมโยธาและอาคาร (Civil and Building Service) และ 4.บริการผลิต ประกอบ และบริการอื่น (Fabrication and Other Service)